มาทำลายคอมพิวเตอร์กันเถอะ

ไปหน้าแรก | สารบัญ | Laploy.comระเบียนบทความ | บทความจากลาภลอย

มาทำลายคอมพิวเตอร์กันเถอะ!!

 

ขั้นตอนง่ายๆ และประหยัด ที่คุณก็ทำเองได้ เพื่อทำให้คอมพิวเตอร์ของคุณมีประสิทธิภาพต่ำกว่าศูนย์

เขียนโดย ลาภลอย วานิชอังกูร    บทความจากนิตยสาร ComToday

 

ความสุขของคุณคือการเห็นคอมพิวเตอร์ชำรุด – การได้แบกคอมฯ ไปซ่อมที่ร้าน – การได้จ่ายเงินค่าซ่อมให้ช่าง เป็นอย่างนั้นใช่หรือไม่? ถ้าใช่! โปรดอ่านบทความนี้ เพราะผู้เขียนจะแนะนำเคล็ดลับต่างๆ เพื่อให้คุณสมหวังได้ไม่ยาก!

อย่ายอมให้ใครมาบอกว่าคุณไม่มีสิทธิ เจ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกคนล้วนมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะทำลายเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเอง แน่ละ เราอาจะเห็นคนส่วนมากหมกมุ่นอยู่กับการบำรุงรักษาเครื่องให้ใช้งานได้ดี รักษาระดับความร้อนให้ไม่สูงเกินไป หาทางยืดอายุการใช้งาน ปรับแต่งระบบปฏิบัติการให้ทำงานลื่น ฯลฯ ผมขอบอกว่าการทำเช่นนั้นรังแต่จะทำให้คอมพิวเตอร์ได้ใจ!

คุณเคยดูเรื่อง A.I. หรือไม่? (ภาพยนตร์ปีค.ศ. 2001 กำกับโดยสตีเวน สปิลเบิร์ก) ในภาพยนตร์เรื่องนั้น เมื่อประชากรหุ่นยนต์มีมากเกินไป เค้ายังต้องจัดงาน “เฟรชแฟร์” (Flesh Fair) ลากหุ่นยนต์ออกมาทำลายเล่น เพื่อสะใจและเป็นการควบคุมประชากรหุ่นไปด้วยในตัว แน่ละ! ทั้งคุณและผมย่อมมีสิทธิที่จะได้ลิ้มรสความสุขใจเช่นนั้นบ้าง!

ในบทความนี้ผมจะสอนวิธีทำลายเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างเป็นระบบ เป็นหลักสากลที่นิยมใช้กันทัวโลก หากคุณอ่านและทำตามทุกขั้นตอน เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว คุณจะพบว่าเครื่องพีซีของคุณไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไป ถ้าคุณทำตามขั้นตอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ คอมพิวเตอร์ของคุณจะได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ชำรุดมากเสียจนเมื่อนำไปส่งร้านซ่อม ช่างซ่อมอาจถึงกับต้องขวัญบิน

 

(คำเตือน : บทความนี้เป็นเรื่องของการใช้กำลังและความรุนแรง มีเนื้อหาไม่เหมาะต่อเยาวชนอายุต่ำกว่า 13 ปี ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำ)

 

เริงร่ารอบตู้เคส

บันไดขั้นแรกที่จะนำเราไปสู่ความสุขอยู่ที่การได้เปิดฝาเครื่องคอมพิวเตอร์ ตู้คอมพิวเตอร์หรือที่ช่างชอบเรียกว่า “ตู้เคส” (computer case) นั้นจะมีฝาปิดไว้ทางซ้ายและทางขวา ฝานี้ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ภายในได้รับเสียหาย ผู้ที่ไม่ใช่ช่างซึ่งไม่มีหน้าที่บำรุงรักษาไม่ควรจะเปิดฝานี้ออก เมื่อรู้ดังนี้แล้วจะรอช้าอยู่ใย? ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ได้เลย!

  1. เดินอ้อมไปหลังโต๊ะคอมพิวเตอร์เพื่อพิจารณาด้านหลังของเคสคอมพิวเตอร์
  2. กวาดสายตาดูรอบๆ คุณจะเห็นว่าฝาเคสคอมพิวเตอร์ของเรามันช่างมีนอตเยอะเสียจริงๆ นอตที่ว่านี้เป็นนอตหัวแฉกหรือที่พวกช่างเรียกว่า “นอตหัวฟิลลิป” นั่นเอง นอตอย่างนี้ปกติใช้ไขควงหัวแฉกขนาดกลางขันเบาๆ นอตก็จะคลายเกลียวออกมาได้อย่างง่ายดาย แต่งานนี้ย่อมไม่มีการใช้ไขควงแบบนั้นอยู่แล้ว!
  3. นำไขควงแฉกไปเก็บซ่อนไว้ให้หมด
  4. ไปหา “ไขควงแบน” มา เอาไขควงแบนที่มีหัวใหญ่ๆ หน่อย นำมาไขโดยออกแรงให้มากเข้าไว้
  5. หากคุณสามารถทำให้ไขควงแฉลบออกไปทิ่ม “คอนเนคเตอร์” (connector ช่องเสียบสายอุปกรณ์ต่างๆ) จนขาหักได้จะถือว่าดีเลิศ (ของคอนเนคเตอร์ ไม่ใช่ขาของคุณ)
  6. ไม่ควรให้มือพลาดไปทิ่มสันโลหะของเคส เพราะอาจจะทำให้คุณบาดเจ็บ อย่าลืมว่าเป้าหมายของเราคือต้องการสร้างความเสียหายให้แก่คอมพิวเตอร์ ไม่ใช่รางกายของเรา
  7. ถ้าคุณใช้เครื่องหรูมีระดับ (เครื่องแบรนเนม) อาจต้องเจอกับนอตแบบ “โปสิไดร์ฟ” นอตแบบนี้เป็นนอตพิเศษ ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันคนที่ไม่ใช่ช่างมาเปิดฝาเคสเล่น หน้าตามันก็คล้ายๆ กับนอตหัวแฉกนี่แหละ แต่ร่องจะชันน้อยกว่า ถ้าไปหาซื้อไขควงโปสิไดร์ฟมาขัน นอตก็จะหลุดออกได้โดยง่าย แต่ผมขอบอกว่าอย่าไปซื้อให้เปลืองเงิน ใช้ ไขควงฟิลลิป นี่แหละเหมาะที่สุด ควรใช้แรงไขมากๆ เพราะจะทำให้นอตหัวแบะดูงามตา และถ้าคุณมีโชค ไขควงของคุณก็อาจจะหัวแบะตามไปด้วยเช่นกัน
  8. หากคุณเป็นสุภาพสตรี หรือมีแรงน้อย ให้ใช้ค้อนตอกที่ท้ายไขควงแรงๆ ทำเช่นนั้นซ้ำๆ จนกว่านอตจะหัวแบะ
  9. เป็นเรื่องสำคัญเมื่อถอดนอตด้านหลังเครื่อง ควรจะถอดให้ครบทุกตัว ไม่ใช่ถอดเฉพาะนอตที่รายล้อมอยู่รอบๆ ฝาเคสเท่านั้น นอตที่อยู่กลาง อยู่ล่าง อยู่บน และนอตซึ่งทำหน้าที่ยึดกล่องหน่วยจ่ายไฟ (power supply unit) นั้นควรค่าแก่การไขออกมามากที่สุด เพราะหากคุณมีโชค หน่วยจ่ายไฟจะร่วงออกจากที่ยึด หล่นลงไปใส่แผงวงจรในเครื่อง ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ก่อนที่คุณจะทันได้ถอดฝาออกเสียอีก
  10. การแกล้งลืมไขนอตออกบางตัว แล้วพยายามงัดฝาเคสออกด้วยกำลัง ถือว่าเป็นความพยายามที่น่าชื่นชม จงพยายามงัดฝาเคสออกด้วยไขควงแบนตัวใหญ่ที่สุดที่หาได้ ลองงัดด้านนู้น แล้วย้ายมางัดด้านนี้ ออกแรงให้มากเข้าไว้เช่นเคย และถ้าคุณกำลังดวงขึ้น คุณก็อาจจะได้เห็นฝาหน้าแตกร้าว โลหะบิดงอ หรือมีชิ้นส่วนอะไรหลุดกระเด็นหายไปที่มุมห้อง
  11. เรียนผูกแล้วต้องเรียนแก้ เมื่อถอดฝาเคสแล้วควรฝึกใส่กลับเข้าที่ด้วย นับเป็นบุญที่เคสบางรุ่นออกแบบมาได้แย่มาก คือมีช่องและร่องมากมาย หากถอดหรือใส่ฝาผิดนิดเดียว สลักก็จะพับงอ มีเคล็ดลับอยู่หน่อยคือตอนใส่ฝาให้กดแรงๆ ใช้กำลังดันเข้าไป (ใช้ค้อนช่วยหากมีแรงน้อย) ถ้ามีสายไฟแลบออกมา ให้ดันฝาเคสกดทับสายไฟไปด้วยจะดีมากๆ ตอนขันนอตปิดควรขันให้แน่นที่สุด ประหนึ่งว่านอตตัวนั้นทำหน้าที่ยึดตึกระฟ้าทั้งหลังไว้ ภายหลังเมื่อเราถอดฝาเคสอีก นอตและรูนอตนั้นจะมีโอกาสเกลียวหวาน หรือหัวแบะได้สูง (เคล็ดลับ : ถ้าอยากผ่อนแรงขอแนะนำให้ใช้ไขควงไฟฟ้าที่มีแรงบิดสูงๆ แบบที่ช่างซ่อมรถใช้)
  12. ควรละลึกไว้เสมอว่าเคสของคอมพิวเตอร์นั้นเป็นสิ่งที่แข็งแรงเหลือเชื่อ จึงควรจัดให้มีน้ำหนักจำนวนมากกดทับไว้เสมอ เช่นเอาตู้เซฟมาตั้งบนเคส หรือมีเก้าอี้ในห้องน้อยๆ เข้าไว้ เมื่อมีแขกมาเยี่ยมก็ให้แขกนั่งบนเคสต่างเก้าอี้ นานๆ เข้าเคสจะบิดงอ เป็นสาเหตุสำคัญในการสร้างความเสียหายให้แก่แผงวงจรภายในได้เป็นอย่างดี

 

ม่วนซื่นกันให้สุดขีด!

 

ไฟฟ้าสถิตจ๋า

ต้องขอขอบคุณไฟฟ้าสถิตผู้น่ารัก เพราะมันทำให้เราสามารถทำลายคอมพิวเตอร์ได้ด้วยการแตะเบาๆ เท่านั้น ไฟฟ้าสถิตจะเกิดในวันอากาศแห้ง หรือในห้องปรับอากาศ เมื่อคุณใส่รองเท้าเดินบนพรมมากๆ ร่างกายของคุณก็จะแปรสภาพเป็นตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีแรงดันสูงหลายแสนโวลต์ภายในเวลาอันสั้น ไฟฟ้าแรงดันสูงขนาดนี้สามารถปลิดชีวิตชิพไอซีได้ในพริบตา เมื่อรู้ดังนี้แล้วจะรอช้าอยู่ใย? มาทำตามขั้นตอนต่อไปนี้กันเถิด!

  1. เปิดฝาเคสให้เรียบร้อย (หรือจะยับเยินก็ตามใจ)
  2. หมายตาไว้ที่ชิพซีพียู หรือแรมโมดูลก็ได้
  3. ปรับอากาศในห้องให้แห้งและเย็น
  4. ใส่ถุงเท้าขนสัตว์หรือที่ทำจากสารสังเคราะห์ เดินลากๆ ขาบนพรมไปๆ มาๆ รอบห้องสักสองสามรอบ
  5. เดินไปที่เครื่องคอมฯ ระวังอย่าให้มือโดนเคสหรือโต๊ะ หรือโลหะชิ้นใดที่มีสภาพเป็นเป็นกราวนด์
  6. ค่อยๆ สอดมือเข้าไปสัมผัสลูบไล้ชิพไอซีตัวนู้นตัวนี้ตามใจชอบ
  7. ถ้าอยากให้การทำลายมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอีก ควรถอดซีพียูและแรมออกจากเมนบอร์ดก่อนสัมผัส
  8. เครื่องดูดฝุ่นเล็กๆ สำหรับทำความสะอาดคอมพิวเตอร์นับว่าเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสถิตชั้นดี พยายามนำมาใช้ดูดซอกซอนตามหลืบมุมต่างๆ ให้ทั่วถึง ถ้าจะให้ได้ผลดีควรทำเมื่ออากาศในห้องมีความชื้นน้อยที่สุด

ถ้าไม่รู้ว่าไอซีในคอมพิวเตอร์คิดอย่างไรกับไฟฟ้าสถิต ก็ลองฉุกคิดถึงหัวอกของลุค สกายวอล์คเกอร์ ตอนเจอเอ็มเพอเรอร์ปลอยไฟฟ้าใส่หน่อยปะไร

 

ใช้แสนยานุภาพทางอากาศ

เมื่อเปิดฝาเคสไว้แล้วหนทางที่เราจะทำลายคอมพิวเตอร์ก็เปิดกว้างตามไปด้วย หากการใช้ไฟฟ้าสถิตไม่เหมาะกับคุณ ผมขอแนะนำให้ใช้กำลังทางอากาศ แนวคิดพื้นฐานคือใช้ลมที่มีกำลังแรงมากๆ เป่าเข้าไปในตู้เคส เพื่อหวังสร้างความเสียหาให้กับอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่บนเมนบอร์ด โปรดทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

  1. ค้นดูในบ้านว่ามีอากาศอัดกระป๋องหรือไม่ หน้าตาเหมือนกระป๋องสเปรย์ ปรกติเราจะซื้อมาไว้เป่าฝุ่นเพื่อทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ กำลังลมของสเปรย์นี้มีอำนาจมากพอที่จะทำให้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในคอมพิวเตอร์หลุดกระเด็นออกมาได้อย่างสบาย
  2. หากต้องการแสนยากรทางอากาศที่ทรงพลังจริงๆ เราต้องอาศัยเครื่องปั๊มลม (Air compressor) อย่างที่ช่างซ่อมรถและนักพ่นสีใช้กัน นำมาปรับให้มีแรงดันสูงสุด (สักยี่สิบบาร์กำลังดี) แล้วนำมาเป่าส่วนต่างๆ ในตู้ ซอกซอนให้ทั่วทุกซอกมุม เช่นในซีดีรอมไดร์ฟ ลึกลงไปในเมนบอร์ด หากคุณมีพรสวรรค์ คุณจะสามารถทำให้ ชิพไอซี แรม หรือแม้กระทั่งตัวเก็บประจุ กระเด็นหลุดออกมาได้

 

ใช้ยุทธนาวี

หากการใช้กำลังทางอากาศไม่ได้ผล คุณอาจพิจารณาการใช้กำลังทางน้ำ แต่การทำเช่นนี้อาจไม่ง่ายอย่างที่คุณคิด เมื่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในคอมพิวเตอร์สัมผัสกับน้ำ มันจะชำรุดเสียหายทันที ถูกต้องหรือไม่? ผิด! ลองนำคอมพิวเตอร์ทั้งเครื่องไปจุ่มลงในสระว่ายน้ำ จากนั้นนำขึ้นมาใช้ลมอุ่นๆ เป่าทุกซอกทุกมุมจนแห้ง คอมพิวเตอร์จะสามารถทำงานได้ตามปรกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น การทำลายคอมพิวเตอร์ด้วยกำลังทางน้ำจึงต้องอาศัยเทคนิคเล็กน้อยดังนี้

  1. วางคอมพิวเตอร์ไว้ใกล้หน้าต่าง ในวันครึ้มฝน อย่าปิดหน้าต่าง
  2. ควรวางแก้วกาแฟและน้ำอัดลมไว้ใกล้ๆ คอมพิวเตอร์ หลักการนี้ได้ผลดีเป็นพิเศษกับคอมพิวเตอร์แบบ notebook
  3. ประดับเคสด้วยโหลปลาทองก็ถือว่าเป็นไอเดียที่ไม่เลว
  4. หากทำน้ำหกใส่คอมพิวเตอร์ อย่านำไปร้านซ่อมในวันนั้น ให้ประวิงไว้สักหนึ่งเดือน เพราะถึงตอนนั้นสนิมได้กินแผงวงจรโดยสมบูรณ์แล้ว

 

 

อำนาจแห่งความร้อน

น่าแปลกที่ทุกคนเกิดรู้ขึ้นได้เองว่าคอมพิวเตอร์ไม่ชอบความร้อน ว่ากันว่าหากความร้อนเพิ่มขึ้นคอมพิวเตอร์จะมีประสิทธิภาพลดลง และหากความร้อนเพิ่มขึ้นจนถึงที่สุด คอมพิวเตอร์ก็จะมีประสิทธิภาพลดลงจนถึงที่สุดไปด้วยเช่นกัน แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราหมายปองหรือ? เมื่อรู้ดังนี้แล้วจะรอช้าอยู่ใย รีบทำตามขั้นตอนต่อไปนี้กันเถอะ

  1. พยายามนำสิ่งต่างๆ เช่น ตั้งหนังสือ สมุด แฟ้ม ฯลฯ มากองไว้รอบเคสมากๆ จุดประสงค์ของเราคือต้องการให้สิ่งเหล่านั้นทำหน้าที่ปิดกั้นทางเดินอากาศ เมื่ออากาศไหลเวียนได้น้อย ความร้อนของคอมพิวเตอร์ก็จะสะสมขึ้นเรื่อยๆ
  2. นำสิ่งกำเนิดความร้อนมาไว้ใกล้ๆ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนมากกำเนิดความร้อนทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น UPS, เครื่องพิมพ์ ทีวี โคมไฟ กาน้ำร้อนไฟฟ้า ฯลฯ อัดเข้าไปรอบๆ เคส ความร้อนจากเครื่องเหล่านี้จะได้ถูกดูดเข้าไปในคอมพิวเตอร์มากๆ
  3. หากห้องทำงานของท่านมีหน้าต่างด้านทิศตะวันตก ที่ได้รับแสงแดดโดยตรงช่วงบ่ายจะดีมาก ให้นำโต๊ะคอมพิวเตอร์ไปตั้งไว้ตรงนั้น
  4. ถ้าขั้นตอนทั้งสามใช้ไม่ได้ผล ให้เผด็จศึกโดยนำเทปกาวมาปิดช่องระบายอากาศทั้งหมดบนตู้เคส

 

โจมตีที่จุดอ่อน

จุดอ่อนที่สุดของคอมพิวเตอร์คือฮาร์ดดิสก์ ภายในฮาร์ดดิสก์มีแผ่นจานกลมแบนๆ หลายแผ่น แผ่นจานเหล่านี้ไม่เคยถูกอะไรสัมผัสแม้กระทั่งฝุ่นผง ขณะเขียนหรืออ่านข้อมูล หัวอ่านของฮาร์ดดิสก์จะ “บิน” อยู่เหนือแผ่นจานในเพดานบินที่มีความสูงน้อยกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผม แนวคิดพื้นฐานคือหาทางให้หัวอ่าน “กระแทก” กับแผ่นจาน การสัมผัสแม้เพียงเล็กน้อยก็เพียงพอจะทำให้ฮาร์ดดิสก์ชำรุดอย่างถาวร เมื่อรู้ทฤษฏีแล้วก็ลงมือปฏิบัติได้เลย

  1. ใช้ฝ่ามือตบที่เคสแรงๆ ขณะฮาร์ดดิสก์อ่านหรือเขียนข้อมูล จุดประสงค์คือเราต้องการสร้าง “แรงสะเทือน” ฮาร์ดดิสก์ส่วนใหญ่จะมีระบบต้านความสั่นสะเทือนอยู่แล้ว จึงอาจจะต้องหาวัตถุที่แข็งและหนัก (เช่นที่ทับกระดาษ) ทุบ คุณอาจถามว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าฮาร์ดดิสก์กำลังอ่านหรือเขียนข้อมูล คำตอบคือให้สังเกตที่หลอดไฟสีแดงเล็กๆ หน้าเครื่อง (ปรกติหลอดนี้จะมีตัวอักษรเขียนว่า H.D. หรืออาจเป็นสัญลักษณ์รูปกลอง) หลอดไฟนี้จะติดสว่างขณะฮาร์ดดิสก์อ่านหรือเขียนข้อมูล
  2. ยกเคสขึ้นลอยจากพื้นเล็กน้อย (หนึ่งนิ้ว) แล้วปล่อยให้ตกกระแทกพื้นขณะฮาร์ดดิสก์อ่านหรือเขียนข้อมูล
  3. ในกรณีที่เป็นคอมพิวเตอร์แบบ note book งานของเราจะง่ายขึ้นมาก เพียงผลักให้มันตกจากโต๊ะขณะฮาร์ดดิสก์อ่านหรือเขียนข้อมูล หากเป็นวันที่คุณดวงขึ้นอาจได้โบนัสคือจอภาพแตกร้าวเป็นของแถมพกด้วย

 

 

สองเกลอลุยไฟ

หากเพื่อนของคุณมาเยี่ยมโดยพกพาคอมพิวเตอร์แบบ notebook มาด้วย นับว่าเป็นมงคล เพราะนี่เป็นโอกาสที่คุณจะได้ทำลายคอมพิวเตอร์ของคุณและของเพื่อนไปโดยพร้อมเพรียงกัน ทำตามขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

  1. หาสาย USB แบบ AA มาหนึ่งเส้น สายชนิดนี้จะมีหัว USB แบบแบนทั้งสองปลาย
  2. นำปลายหนึ่งเสียบกับช่อง USB ในเครื่องของคุณ
  3. นำปลายอีกด้านหนึ่งเสียบกับช่อง USB ในเครื่องของเพื่อนคุณ
  4. เปิดคอมพิวเตอร์ทั้งสองเครื่อง
  5. รอสักหนึ่งนาทีจะเริ่มมีควันขึ้นที่คอมพิวเตอร์ทั้งสองเครื่อง ถ้าคุณเคราะห์ดี อาจมีไฟลุกขึ้นมาด้วย

 

เริงใจกับการถอด-ใส่

การเสียบและถอดอุปกรณ์ขณะที่คอมพิวเตอร์เปิดอยู่ถือเป็นยอดวิชาในการทำลายเครื่อง ก่อนลงมือดูให้แน่ใจก่อนว่าคุณใส่รองเท้าอยู่ และยืนอยู่บนพื้นห้องแห้งสะอาด ไม่เช่นนั้นขั้นตอนนี้อาจจบลงโดยที่คุณโดนไฟดูดจนเสียชีวิต หากเป็นเช่นนั้นย่อมนับว่าเป็นเภทภัยมากกว่าวาสนา เอาละ พร้อมแล้วใช่ไหม? เริ่มกันเลย!

  1. เปิดฝาเครื่อง
  2. จ่ายไฟเข้าเครื่อง
  3. ถอดนอตออกจากแผงวงจรในเครื่อง จะเป็นแผงวงจรเชื่อมต่อจอภาพ หรือการ์ดเสียง หรืออะไรก็ดีทั้งนั้น ถ้าคอมพิวเตอร์ของคุณไม่มีแผงวงจะอะไรเลยเพราะทุกอย่างมีมาพร้อมในเมนบอร์ดทั้งหมด (build-in) ก็คงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องหมายตาไว้ที่แผ่นหน่วยความจำแรม
  4. ถอดแผ่นวงจรออกจากเมนบอร์ด
  5. นำใส่กลับเข้าไปใหม่
  6. ถอดออกมาอีก
  7. ขณะทำขั้นตอนเหล่านี้ดูให้แน่ใจว่ามีไฟจ่ายเข้าเครื่อง และคอมพิวเตอร์เปิดอยู่

 

 

เล่นงานไบออส

ไบออส (BIOS ย่อจาก Basic Input Output System) คือโปรแกรมในไอซีแบบ EEPROM ไบออสเป็นโปรแกรมระดับรากหญ้ามันจะทำงานทันทีที่เราเปิดคอมพิวเตอร์ หากไบออสชำรุด คอมพิวเตอร์จะบูตไม่ได้ ดังนั้นไบออสน่าจะเป็นเป้าหมายที่ยอดเยี่ยมเลยใช่ไหม? วิธีทำลายไบออสให้ดำเนินการตามนี้

  1. เปิดเว็บไซต์ผู้ผลิตไบออส
  2. ดาวน์โหลดโปรแกรมสำหรับ Flash หรือปรับปรุงไบออส
  3. ดาวน์โหลดไบออสตัวล่าสุดมาด้วย
  4. ดูให้แน่ว่าไบออสตัวที่ดาวน์โหลดมาไม่ใช่รุ่นเดียวกับเมนบอร์ดของเรา
  5. ติดตั้งแล้วรันโปรแกรม Flash ไบออส

 

ถอดใจซีพียู

หัวใจของเครื่องคอมพิวเตอร์คือซีพียู หากเราต้องการเล่นงานคอมพิวเตอร์ ทำไมเราจึงไม่โจมตีที่หัวใจเสียเลยเล่า? จะต้องดีแน่ๆ แต่ปัญหาคือซีพียูติดอยู่อย่างปลอดภัยบนเมนบอร์ด โอกาสที่เราจะทำให้มันชำรุดมีน้อยมาก แต่ข่าวดีคือซีพียูต้องการระบบระบายความร้อน โดยทั่วไปแล้วซีพียูใช้การระบายความร้อนด้วยอากาศ ระบบระบายความร้อนประกอบด้วยพัดลมและครีบระบายความร้อน เมื่อรู้แบบนี้แล้วก็ลงมือเลยดีกว่า

  1. เปิดฝาเครื่อง
  2. ถอดสายไฟออกจากพัดลมซีพียู ทำได้โดยดูที่พัดลมซึ่งติดอยู่บนครีบระบายความร้อน จะมีสายไฟสีแดงและดำ ไล่สายนี้ไป จะพบว่ามีหัวเสียบกับเมนบอร์ด ให้ถอดหัวนี้ออก
  3. หากเป็นไปได้ให้ถอดครีบระบายความร้อนออกด้วย แต่ขอเตือนก่อนว่าถอดยากมาก
  4. ปิดฝาเครื่อง
  5. ใช้เทปกาวปิดช่องระบายความร้อน
  6. เปิดคอมพิวเตอร์ แล้วเปิดเกม Half-Life 2 หรือโปรแกรมอะไรก็ได้ที่กินแรงซีพียูมากๆ หน่อย
  7. ดูให้แน่ใจว่าไม่ได้เปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลม
  8. ทิ้งไว้เช่นนั้นสักสองชั่วโมง

 

ม้วยด้วยหฤหรรษ์

เมื่อทำตามคำแนะนำมาถึงตอนนี้แล้ว คอมพิวเตอร์ของคุณจะไม่สามารถใช้โปรกรม bench mark วัดประสิทธิภาพได้เลย (อันที่จริงใช้โปรแกรมอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น) เพราะตายสนิท เปิดไม่ติด จอมืด มีประโยชน์ในการใช้สอยเทียบเท่าที่ทับกระดาษขนาดยักษ์แค่นั้น ขั้นตอนที่มีเหตุผลซึ่งควรทำต่อไปคือส่งร้านซ่อม หรือไม่ก็ส่งลงถังขยะ หรือจะทำอย่างไรต่อไปก็สุดแท้แต่คุณแล้วละครับ

Post a comment or leave a trackback: Trackback URL.

ความเห็น

  • Siwamate  On มกราคม 26, 2008 at 3:14 am

    เอามาให้ผมแกะนู่นแกะนี่ก็ได้คับ หุ หุ หุ

  • Tanapat  On กันยายน 7, 2009 at 12:04 pm

    ,มันสะเด็ดเลย

ใส่ความเห็น